เห็ด เป็นยา


เห็ดเป็นยาเพื่อสุขภาพ ตามภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้าน
      บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือคู่มือเห็ดเป็นยาเพื่อสุขภาพตามภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้าน โดย สำนักการแพทย์พื้นบ้านไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

บทนำ
1.ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเห็ด
            เห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “ไฟจัง”
(Fungi) หรือเรียกว่า “กลุ่มเห็ด-รา” ซึ่งเดิมถูกจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในกลุ่มของพืชชั้นต่ำ แต่เมื่อเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้ามากขึ้นสามารถตรวจสอบได้จนถึงระดับสายพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ทำให้ทราบว่าเห็ด-รา ไม่ใช่พืชเพราะไม่มีโครงสร้างภายในเซลล์ที่เรียกว่า “คลอโรพลาสต์” ที่ใช้ในการสังเคราะห์แสงและมีลำดับของพันธุกรรมคล้ายคลึงกับสัตว์มากกว่าพืช นักวทิยาศาสตร์จึงได้แยกกลุ่มของเห็ด-ราออกจากกลุ่มของพืช เห็ดแตกต่างจากรางตรงที่เส้นใย มีการถักทอรวมกันเป็นดอกเห็ด ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่พบในกลุ่มของรา นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการประเมินว่าเห็ดในโลกนี้น่าจะมีประมาณ 140,000 ชนิด แต่ในขณะนี้มีการศึกษาเพื่อจัดจำแนกได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ยังมีเห็ดอีกเป็นจำนวนมากที่มีอยู่ในธรรมชาติเพื่อรอการศึกษาขั้นต่อไป โดยเฉพาะการศึกษาเพื่อนำมาใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ การบริโภคซึ่งเป็นได้ทั้งอาหารและยาในเวลาเดียวกัน
            เห็ดเป็นที่นิยมของตลาดมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลทางการตลาดในสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่าผลผลิตจากเห็ดที่เข้าสู่ตลาดในปี พ.ศ. 2542 ที่มีจำนวน 1.2 ล้านตัน เป็น 7 ล้านตันในปี พ.ศ. 2542 และ 9.9 ล้านตันในปี 2547 ข้อมูลนี้เป็นเพียงการบริโภคเห็ดเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2549 สหรัฐอเมริกาสามารถผลิตเห็ดเพื่อบริโภคภายในประเทศได้เพียง 400,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเห็ดกระดุม เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวในปี พ.ศ. 2550 มีการบริโภคเห็ดเป็นมูลค่าถึง 915 ล้านเหรียญสหรัฐ ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเห็ดเริ่มมีบทบาทต่อสังคมโลกมากขึ้น

2. คุณค่าทางยาจากเห็ดเป็นยา
            เป็นเวลามากกว่า 2,000 ปี มาแล้วที่มนุษย์ได้มีการบริโภคเห็ดเป็นอาหารและยารักษาโรคโดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออก มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าเห็ดมีสารสำคัญหลายชนิด เช่น โพลิแซคคาไรด์
(Polysaccharides) ซึ่งมีคุณสมบัติในการลดความดันโลหิต ต่อต้านการเกิดเซลล์มะเร็งและต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เป็นสารช่วยลดปริมาณคอลเลสเตอรอลในเลือดและป้องกนความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น เห็ดที่มีการใช้เป็นยาทั่วโลกมีไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติใช้เป็นยา นอกจากจะใช้ตัวดอกเห็ดแล้วยังการการใช้เส้นใยและน้ำเลี้ยงเส้นใยได้ด้วย
            ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมาตลาดการค้าเห็ดเป็นยา มีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างมากแต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาค้างคาใจในอีกหลายเรื่อง อาทิ
            - ทำไมเห็ดจึงรักษาโรคได้หลายชนิด
            - สาระสำคัญในเห็ดมีกระบวนการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอย่างไร
            - สารสกัดจากเส้นใยมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับสารที่สกัดจากดอกเห็ดหรือไม่
            - สารสกัดจากเห็ดจะดีกว่าการบริโภคเห็ดทั้งดอกหรือไม่
            - วิธีการสกัดแบบไหนที่ดีที่สุด น้ำร้อน น้ำเย็นหรือแอลกอฮอล์
            ถึงแม้จะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการใช้เห็ดเป็นยา แต่การตอบรับของตลาดกลับมีพลังในการขับเคลื่อนให้มียอดในการจำหน่ายสูงเพิ่มขึ้นในแต่ละปี
            เห็ดที่มีศักยภาพในการใช้เป็นยา ประเมินว่ามีประมาณ 600 ชนิด สารสำคัญที่เห็ดผลิตขึ้นมาส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกายยิ่งทำการศึกษาลึกลงไปเท่าใดยิ่งพบศักยภาพของการนำเห็ดมาใช้มากมายยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ ดังจะเห็ได้ว่างานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์มากกว่า 500 ชิ้น ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ทางยาจากเห็ดได้แก่ เห็ดขอนช้อนซ้อน เห็ดหอม เห็ดหลินจือ เห็ดขอนหลากสี เห็ดกระดุม เห็ดแมลงหรือถั่งเช่า เห็ดหัวลิงและเห็ดตีนตุ๊กแก เห็ดที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาให้เป็นยาได้ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม
เห็ดหิ้งและเห็ดขอน ซึ่งเจริญได้ดีบนต้นไม้ทั้งที่มีชีวิตและไม้ที่ตายแล้ว ซึ่งข้อมูลในเชิงการเพาะเลี้ยงยังมีน้อยมาก การนำเห็ดมาใช้เป็นยาจึงมีพื้นที่ที่กว้างขวางสำหรับผู้คนหลากหลายสาขา

3. การดึงความชื้นออกจากเห็ดด้วยซิลิก้าเจล
            ก่อนที่จะพิจารณานำเอาเห็ดไม่ว่าจะเป็นเห็ดชนิดใดมาเป็นส่วนประกอบเป็นยานั้น ผู้ที่จะนำมาใช้ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า เห็ดคืออะไร เกิดมาอย่างไร ส่วนไหนที่ควรจะนำเอามาเป็นยา ก่อนที่จะนำเอามาเป็นยาควรทำอย่างไร สูตรที่จะใช้เห็ดเป็นยานั้นควรเป็นสูตรไหน ใช้สำหรับโรคอะไรเสียก่อน โดยทั่วไปเห็ดเกิดจากเส้นใยที่มีลักษณะคล้ายปุยฝ้ายหรือเชื้อราที่เห็นเป็นเส้นใยสีขาวเป็นส่วนใหญ่โดยเส้ยใยของเห็ดไม่สามารถสร้างอาหารได้เอง ซึ่งต่างจากพืชชั้นสุงทั่วไปที่มีสีเขียวใช้แสงแดดและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการสร้างพลังงาน ดังนี้ เส้นใยของเห็ดจึงสร้างเอ็นไซม์ หรือน้ำย่อยหลายชนิดออกมา เพื่อย่อยอาหารที่เป็นเศษซากพืชที่ตายแล้วเมื่อเส้นใยของเห็ดเจริญเต็มที่กินอาหารและสะสมอาหารได้อย่างเพียงพอและแก่แล้ว หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม เส้นใยดังกล่าวจะมารวมตัวกันเป็นดอก ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะรู้จักมักคุ้นดอกเห็ดมากกว่า เราจึงนิยมนำเอาดอกเห็ดมาเป็นอาหารหรือมาทำเป็นส่วนผสมของยา แต่ปัจจุบันวิทยาการได้ก้าวหน้าไปมาก เห็ดบางชนิดเราสามารถทำการเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดและทำการเพาะเห็ดเป็นดอกขึ้นเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยธรรมชาติจึงทำให้ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการหันมาทำการผลิตเห็ดเป็นยาส่งไปขายยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งส่งมาขายในไทยด้วย ดังได้กล่าวมาแล้วว่า
เส้นใยของเห็ดถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการสร้างเอ็มไซม์ในการย่อยอาหารและในเส้นใยของเห็ดหลายชนิดจะมีทั้งเอ็นไซม์และสารอาหารหลายชนิดที่มีคุณสมบัติเป็นยา จึงได้มีการเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ด เพื่อนำเอามาเป็นส่วนผสมของยา เสริมจากการที่เคยใช้เฉพาะดอกเห็ดเป็นยา จะทำให้ได้คุณภาพของยามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นเป็นที่ทราบกันดีว่าในอดีต การนำเอาเห็ดมาใช้เป็นยานั้น จะใช้วิธีนำเอาดอกเห็ดมาฝนหรือต้มสกัดเอาตัวยาเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วกระบวนการแปรรูปรวมทั้งการสกัดสารอาหารที่เป็นยาด้วยด้วยความร้อน อาจจะเป็นกรรมวิธีที่สะดวกและง่าย วิธีการนี้อาจจะได้สารอาหารที่เป็นยามาบ้างชนิดเท่านั้นแต่สารอาหารที่เป็นยาส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถทนความร้อนสูงๆ ได้เช่นเอ็นไซม์ที่ไม่สามารถคงสภาพการทำงานได้ หากถูกความร้อนสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ดังนั้น วิธีการที่จะรักษาสรรพคุณทางยาในเห็ดให้ได้มากที่สุดนั้น ควรใช้เห็ดในรูปของเห็ดสด ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วไม่สามารถเก็บไว้นานๆ ได้ หากต้องการรักษาคุณภาพและสรรพคุณทางยาของเห็ดให้คงสภาพเฉกเช่นเห็ดสดได้ จะต้องเก็บในรูปของเห็ดแห้งที่ทำให้แห้งด้วยอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียสซึ่งในต่างประเทศนิยมทำแห้งด้วยระบบแห้งที่อุณหภูมิต่ำกว่าน้ำแข็งในสภาพสูญญากาศ หรือที่เรียกว่า Freeze dry ที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษราคาหลายล้านบาทขึ้นไป จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือดังกล่าวก็ได้ เราสามารถนำไปทำให้แห้ง ในห้องปรับอากาศ ตู้เย็น หรือใช้สารดูดความชื้นที่ใช้กับอาหาร ได้แก่ ซิลิก้าเจล เป็นต้น
            วิธีทำ
            ให้ใช้ซิลิก้าเจล 1 กิโลกรัม (ราคาประมาณ 500 บาท หาซื้อได้ตามร้านขายเคมีภัณฑ์ทั่วไป) ชนิดที่ใช้กับอาหาร นำเอามาอบดวยเตาไมโครเวฟหรือคั่วให้แห้ง ใส่ขวดโหลแก้ว ปิดฝาให้สนิท ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วจึงนำเอาส่วนของเห็ด ไม่ว่าจะเป็นหัวเชื้อเห็ด หรือดอกเห็ดที่จะนำเอาไปใช้เป็นยา ไม่เกิน 200 กรัม วางบนภาชนะเคลื่องเคลือบ แล้วนำไปใส่ในขวดโหลดที่มีซิลิก้เจลอยู่ ปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ในที่เย็น เช่น ห้องปรับอากาศหรือตู้เย็นได้ยิ่งดี ประมาณ 24-36 ชั่วโมง ก็จะแห้งพอที่จะนำเอาไปเก็บไว้ใช้นานๆ ได้ แต่หากว่ายังแห้งไม่พอ ควรนำซิลิก้าเจลไปคั่วใหม่ ให้ความชื้นที่มันดูดเอาไว้ระเหยออกไปก่อน แล้วจึงใส่เห็ดเดิมเข้าไปอีก จนกระทั้งได้เห็ดแห้งตามที่ต้องการ การเก็บรักษาดอกเห็ดแห้งให้อยู่นานๆ นั้น ควรใส่ในภาชนะที่สะอาดและปิดมิดชิด

4. สูตรและวิธีการผลิตเอ็นไซม์จากเห็ด
            แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเห็ดเป็นยาก็ตาม แต่การใช้เห็ดเป็นยานั้น ก็เหมือนสมุนไพรอื่นๆ ทั่วไปที่ตัวมันเองจะไม่มีคุณสมบัติที่ดีพอหรือมีประสิทธิภาพในความเป็นยาดีพอ จึงจำเป็นจะต้องทำการผสมสมุนไพรตัวอื่นเข้าไปด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและเนื่องจากสรรพคุณทางยาของเห็ดนั้น ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการจับตัวกันของน้ำตาลเพนโตส ที่เรียกว่า
Polysaccharide of pentose ซึ่งสารประกอบนี้แม้เส้นใยเห็ดเองยังไม่สามารถย่อยสลายได้ ดังนั้นในร่างกายของมนุษย์ก็จะดูดซึมเอาไปใช้ได้ยากเช่นกัน มันจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยสมุนไพรตัวอื่นเป็นตัวช่วยในการย่อนสลายหรือจุลินทรีย์ที่สร้างเอ็นไซม์ช่วยย่อยเสียก่อน
            การที่มนุษย์เรารับประทานอาหารที่ถูกทำลายเอ็นไซม์ด้วยความร้อนหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะด้วยความร้อน ผ่านเตาไมโครเวฟ ตากแดด ฉายแสง ล้วนแล้วไปทำลายเอ็นไซม์ช่วยย่อยในอาหารทั้งสิ้นดังนั้น เมื่อเรารับประทานอาหารที่ผ่านความร้อนเข้าไป ร่างกาย จะต้องนำเอาเอ็นไซม์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการลำเลี้ยงอาหารไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ที่มีอยู่อย่างจำกัด เอามาใช้ย่อยอาหารแทนที่อาหารเหล่านี้จะถูกย่อยด้วยเอ็นไซม์ของมันเอง เมื่อร่างกายขาดเอ็นไซม์ มันจึงมีการสะสมของเสียมากมาย อันได้แก่ น้ำตาลสะสมในเส้นเลือด ก็จะกลายเป็นเบาหวาน กรดยูริคตามข้อต่อ ก็จะเป็นเกาท์ ไขมันในเส้นเลือดก็จะเป็นความดันและโรคหัวใจหรืออาหารบางอย่างไม่ถูกย่อยสลาย ก็จะกลายเป็นอนุมูลอิสระ เป็นตัวกระตุ้นเซลล์ให้เป็นเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้นก่อนที่จะรักษาโรคใดๆ ก็ตามสิ่งที่จะต้องทำคือ การปรับปรุงสมดุลในร่างกายเป็นลำดับแรกโดยปรับปริมาณเอ็นไซม์ในร่างกายทุกส่วนให้เพียงพอเสียก่อน ซึ่งการที่คนไทยขาดความรู้ในการผลิตเอ็นไซม์ที่มีประโยชน์มาใช้เอง จึงจำเป็นต้องหันไปซื้อเอ็นไซม์ที่ผลิตจากต่างประเทศที่มีราคาแพงๆ มาใช้และอาจจะเป็นเอ็นไซม์ที่ไม่มีความจำเป็นอันใดเลยแก่ร่างกายก็ได้ จริงๆ แล้วเราสามารถผลิตเอ็นไซม์ที่มีประโยชน์และมีคุณค่าสูงได้เองด้วยกรรมวิธีง่ายๆ ดังนี้

            4.1 การทำเอ็นไซม์น้ำ (สูตรที่ 1)
            ส่วนประกอบ
            หัวเชื้อเห็ดที่เพาะเลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่าง                    100       กรัม

            รำละเอียด (หากเป็นรำข้าวสาลีได้ยิ่งดี)                      30      กรัม
            แป้งข้าวเหนียว                                                  20      กรัม
            นมผง                                                             20      กรัม
            น้ำสะอาด                                                       100       ซีซี
            จุลินทรีย์ยูเอ็ม 92                                                 1      ช้อนแกง
            วิธีทำ
           
นำเอาส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากันเป็นอย่างดี แล้วนำใส่ในภาชนะแก้วหรือสแตนเลท ประมาณ 24-36 ชั่วโมง ก็จะได้เอ็นไซม์สูงสุด สามารถนำเอาไปใช้เป็นเอ็นไซม์สด หรือแปรรูปให้แห้งในสภาพเย็นดังได้กล่าวมาแล้ว
            วิธีรับประทาน
           
โดยปกติหากจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่สุกเข้าไปในร่างกายนั้น ควรดื่มเอ็นไซม์สดก่อนรับประทานอาหารเล็กน้อย ในปริมาณ 1-2 ช้อนชา ก็เพียงพอแล้ว
            หมายเหตุ
            จุลินทรีย์ยูเอ็ม 92 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ สามารถรับประทานได้ อันได้แก่ เชื้อ
Pediococcus sp. Lactobacillus sp. Pichia sp.  และ Dekkerra sp. ที่ส่วนใหญ่ได้มาจากการแยกเชื้อบริเวณรากต้นโกงกาง ส่วนหัวเชื้อเห็ดนั้น ควรใช้หัวเชื้อบริสุทธิที่มีคุณสมบัติเป็นยา อันได้แก่ เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดขอนขาว เห็ดลม เห็ดหลินจือ เห็ดหัวลิง เห็ดจิก เห็ดเค้ง เห็ดโคน เป็นต้น จะใช้หัวเชื้อเห็ดชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือใช้หัวเชื้อหลายชนิดรวมกันก็ได้ หรือจะใส่ดอกเห็ที่บดให้เป็นผงละเอียดเข้าไปก็ได้
            ในกรณีที่เป็นการทำเอ็มไซม์จากเห็ดเพื่อเป็นการรักษาโรคเฉพาะอย่างนั้น ก็ทำได้เช่นเดียวกันเพียงแต่ให้เน้นใส่หัวเชื้อเห็ด รวมทั้งดอกเห็ดที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคนั้นเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่นใช้รักษา
โรคความดันโลหิตสูง ให้ใช้หัวเชื้อเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดโคนชนิดใดชนิดหนึ่งหรือใช้รวมกันก็ได้
โรคมะเร็งปากมดลูก ควรใช้หัวเชื้อเห็ดแครง
โรคมะเร็งตับ ใช้หัวเชื้อเห็ดหลินจือ เห็ดกระถินพิมาน เห็ดจิก เห็ดเค้ง เห็ดขาม เห็ดขอนหลากสี เห็ดขอนช้อนซ้อม
โรคมะเร็งปอด
ใช้หัวเชื้อเห็ดหัวลิง เห็ดกระดุมบราซิล
โรคเบาหวาน 
ให้ใช้หัวเชื้อเห็ดกระดุมบราซิล เห็ดพิมาร เห็ดแครง เห็ดขอนขาว เห็ดขอนหลากสี เห็ดขอนช้อนซ้อม เห็ดหลินจือ
โรคเกาท์ 
ให้ใช้หัวเชื้อเห็ดแครง เห็ดกระดุมบราซิล เห็ดพิมาณ เห็ดขาม เห็ดหลินจือ

            4.2 การทำเอ็นไซม์น้ำ (สูตรที่ 2)
            ส่วนประกอบ
            ใช้ทั้งหัวเชื้อเห็ด ดอกเห็ด                                         1      กิโลกรัม

            ผักสดหรือผลไม้สด                                                 1      กิโลกรัม
            น้ำ                                                                     8      กิโลกรัม
            น้ำตาลทรายแดง                                                    2      กิโลกรัม
            หัวเชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์ ยูเอ็ม 92                                 2      ช้อนโต๊ะ
            วิธีทำ
           
ให้ทำการสับหรือบดหัวเชื้อเห็ด ดอกเห็ด ผักและผลไม้ พร้อมทั้งใส่น้ำตาลเข้าไปด้วย แล้วจึงเติมน้ำและหัวเชื้อจุลินทรีย์เข้าไป นำไปหมักในขวดโหล หรือภาชนะเคลือบเช่น ไห หรือโอ่งมังกร หรือหม้อสแตนเลท (ไม่ควรใช้ถังพลาสติก เพราะอาจจะมีสารพิษจากพลาสติกละลายออกมาขณะทำการหมัก) ทำการคนทุกวันบ่อยครั้งได้ยิ่งดี หรือใช้เครื่องเป่าอากาศในตู้ปลา เพื่อเป่าอากาศเข้าไปกระตุ้นขบวนการหมัก ใช้เวลาหมักประมาณ 20-30 วันขึ้นไปหรือสังเกตจากไม่มีฟองอากาศเกิดขึ้น วัสดุหมักเริ่มจมและมีกลิ่นและรสเปรี้ยวคล้ายน้ำส้มสายชูแล้ว ก็สามารถนำเอามาใช้ได้หากใช้ไม่หมด สามารถปล่อยให้ทำการหมักต่อไปได้ แต่เอ็นไซม์ที่มีประโยชน์บางตัวจะเสื่อมสลายไปดังนั้นเมื่อทำการหมักได้ที่แล้ว ควรกรองเอาแต่น้ำ นำไปแช่ในตู้เย็นไว้จะดีกว่า
            การที่จะทำเอ็นไซม์น้ำรักษาโรคต่างๆ นั้น ขอให้พิจารณาการใช้หัวเชื้อเห็ดหรือดอกเห็ดที่มีสรรพคุณทางยารักษาโรคนั้นเป็นสำคัญดังได้กล่าวมาแล้ว
            อนึ่ง เชื้อจุลินทรีย์ยูเอ็ม 92 นั้นเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ที่แยกเชื้อบริสุทธิ์มาจากปลายรากโกงกางของไทย สามารสร้างเอ็นไซม์ได้สูงอย่างรวดเร็ว หากไม่มี ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้ โดยอาศัยจุลินทรีย์ธรรมชาติที่ติดมากับดอกเห็ดหรือพืชผักผลไม้ที่ใส่เข้าไป แต่ค่อนข้างที่จะเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจจะเกิดจากเชื้อบางชนิด ที่อาจจะก่อให้เกิดโรคแก่ผู้ใช้ได้ (ได้รับอนุเคราะห์ข้อมูลจาก ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล ผู้เชี่ยวชาญเห็ดจากองค์การสหประชาชาติ ปี 2524-2548)

1 ความคิดเห็น:

  1. อยากทราบ วิธีหมักเห็ดกระถินพิมาน รักษาแม่ป่วยเป็นเบาหวาน และพี่ชายที่เป็นมะเร็งตับค่ะ. ใช้สตูร2ใช่ไหมค่ะ. แล้วหมักกี่วันถึงจะได้ตัวยามารับประทาน และทานวันละกี่มื้อ ก่อนหรือหลังอาหารค่ะ

    ตอบลบ